ข้อความต้อนรับ

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์..ตะลัยล้านกุดหว้า

ความภาคภมิใจ ของชาวกาฬสินธุ์


             

บุญบั้งไฟตะไลล้าน รวมใจ รักษ์ภูมิปัญญาที่กุดหว้า กาฬสินธุ์




                          ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน" ที่บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ จังหวัดกาฬสินธุ์ สะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานที่น่าสัมผัส
                       เมื่อพูดถึงประเพณีการละเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน "เทศกาลบุญบั้งไฟ" คือหนึ่งในประเพณีที่มาแรงในลำดับต้นๆ แต่ที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประเพณีบุญบั้ืงไฟอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กับงาน "บุญบั้งไฟตะไลล้าน" ซึ่งนอกจากเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาโบราณอีสานดั้งเดิมยังเสริมด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่นอีกด้วย
เดิมบุญบั้งไฟกุดกว้าก็เป็นการจุด "บั้งไฟหาง" หรือบั้งไฟแบบท่อตรงยาวเช่นเดียวกับประเพณีบั้งไฟในพื้นที่อื่นๆ จนกระทั่งช่างทำบั้งไฟในบ้านกุดหว้าได้คิดค้นวิธีทำ "บั้งไฟตะไล" เพื่อให้เกิดความแตกต่างโดยได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟปีพ.ศ.2521 และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเปลี่ยนเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลนับแต่นั้นป็นต้นมา
ประสบการณ์และความสามารถของทีมช่างบั้งไฟเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี จาก "บั้งไฟตะไลหมื่น" เป็น "บั้งไฟตะไลแสน" และในที่สุดจึงได้มีการสร้างบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่หรือ "บั้งไฟตะไลล้าน"
"ในสมัยก่อนการทำบุญบั้งไฟบ้านกุดหว้าจะใช้บั้งไฟหางเหมือนกับพื้นที่อื่น จนมาเมื่อปีพ.ศ.2521 ตนได้คิดค้นวิธีทำบั้งไฟตะไลเพื่อให้แตกต่างจากพื้นที่อื่น จนได้เริ่มการทำบั้งไฟตะไลแสนขึ้นมา และได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟในปีนั้น และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลเรื่อยมา" อาจารย์พิศดา จำพล ปราชญ์ชาวบ้าน เล่า
แรกเริ่มเดิมทีมีเพียงแค่การจุด "บั้งไฟตะไลหมื่น" ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเป็น "บั้งไฟตะไลแสน" ต่อมาได้มีการพัฒนาบั้งไฟให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จนในปี พ.ศ.2540 ได้มีการทำบั้งไฟตะไลล้านขึ้นมาแต่เมื่อจุดแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาสูตรการทำตะไลล้านมาเรื่อยๆ ในที่สุดการทำบั้งไฟตะไลล้านก็สำเร็จและสามารถจุดขึ้นได้ในปีพ.ศ.2542 จากนั้นจึงได้มีการทำบั้งไฟตะไลล้านเป็นประเพณี จนกระทั่งปัจจุบันพัฒนาเป็น "บั้งไฟตะไลสองล้าน" ที่เพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อตะไลและเพิ่มปริมาณดินขับให้มากขึ้น
พระเอกของงานอย่าง "บั้งไฟตะไลล้าน" ประกอบด้วยตัวบั้งไฟที่ทำจากท่อเหล็กความยาว6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป โดยจะมีการเจาะประมาณ 4-6 รูสำหรับจุดไฟและเป็นช่องให้แรงขับจากดินประสิวพุ่งออกมาส่งบั้งไฟตะไลลอยขึ้นไปในอากาศ แบ่งเป็นช่องสำหรับ "ส่ง" และ "หมุน" การเจาะรูต้องอาศัยประสบการณ์ของช่างเพื่อให้บั้งไฟหมุนตัวพุ่งขึ้นเป็นเส้นตรง และมี "กง" ทำจากไม้ไผ่เป็นเส้กลมคาดผ่านปลายท่อทั้งสองข้างจนมีรูปร่างเหมือนวงล้อขนาดใหญ่ ทำหน้าที่คล้ายใบพัดกำกับการหมุนของบั้งไฟตะไล
ในการทำบั้งไฟตะไลแต่ละอันช่างจะนำดินประสิวบรรจุเข้าไปในท่อเหล็ก โดยใช้แรงดันจากเครื่องอัดไฮดรอลิคค่อยๆ ดันอัดดินเข้าไป โดยต้องคอยเติมเดินประสิวเข้าไปเป็นระยะและอัดต่อจนกว่าจะเต็ม
ดินประสิวที่ใช้มีส่วนผสมต่างกัน 3 ชนิดซึ่งจะเผาไหม้ตามลำดับและส่งพลังงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
การทำบั้งไฟตะไลในแต่ละปีจะเริ่มทำราวเดือนเมษายน โดยช่างทำบั้งไฟตะไลขอวางมือจากงานประจำ (เกษตรกร เจ้าหน้าที่สหกรณ์ชุมชน หรือแม้แต่ "ตำรวจ") มาเป็นช่างชั่วคราวไปจนถึงวันงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน นอกจากเงินงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลชาวบ้านยังได้ร่วมกันบริจาคเงินงบสมทบในการสร้างบั้งไฟตะไลด้วย ซึ่งหากเทียบกับเงินรางวัลจากการแข่งขันที่ไม่มากมาย การทำบั้งไฟตะไลเพื่อช่วงชิงเงินรางวัลจึงไม่ใช่ประเด็น แต่เน้นที่ความร่วมมือร่วมใจมากกว่า
การจัดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไทบุญบั้งไฟตะไลล้าน ประจำปี 2556 เทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 18 - 19พฤษภาคม 2556 เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม ช่วงเช้ามีการทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่วัดกกต้องกุดหว้า พร้อมทั้งรับ "ต้นกัลป์" ประดับด้วยเครื่องใช้ต่างๆ ที่แต่ละหมู่บ้านนำมาถวายวัด ก่อนจะถวายภัตตาหารเพลและถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ ช่วงใกล้เที่ยงขบวนแห่บั้งไฟทุกขบวนพร้อมกัน ณ สนามหน้าอาคารอุทยานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมผู้ไทบั้งไฟตะไลล้าน (เทศบาลกุดหว้า) ก่อนจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ มีการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น ชุดฟ้อนผู้ไทตะไลล้าน ใช้ผู้แสดงประมาณ 400 คน
กระทั่งเวลาบ่ายจึงเคลื่อนขบวนแห่บั้งไฟไปยังวัดกกต้องกุดหว้า กว่าจะครบขบวนก็ใช้เวลาถึงช่วงเย็น ช่วงค่ำมีประกาศผลการประกวดขบวนแห่บั้งไฟและมอบรางวัล มีการแสดงมหรสพสมโภชตลอดคืนหมอลำเรื่องต่อและดนตรีพื้นเมือง
วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2556 ตั้งแต่ช่วงเช้ามีทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเช้า จนกระทั่งเวลา 08.00 น. เริ่มต้นการการแข่งขันการจุดบั้งไฟตะไลแสนขึ้นสูง และการแข่งขันการจุดบั้งไฟตะไลล้านบูชาพญาแถนต่อเนื่องทั้งวัน ก่อนจะมีพิธีมอบรางวัลผู้ชนะเลิศการแข่งขันบั้งไฟตะไลในช่วงเย็น
เวลาที่ทุกคนรอคอยมาถึงเมื่อการแข่งขันบั้งไฟตะไลเริ่มขึ้น โดยทีมช่างทำบั้งไฟตะไลจะช่วยกันแบกผลงานของต้นไปติดตั้งบนฐานที่เตรียมไว้สำหรับจุดตะไล และจุดไฟให้ครบทุกช่องก่อนจะวิ่งไม่เหลียวหลังเข้าหลบในเนินดินหรือ "บังเกอร์" ตะไลที่ติดไฟดีแล้วจะค่อยๆ ปล่อยควันสีขาวออกมา ก่อนจะเริ่มหมุนยกตัวขึ้นจากพื้นและลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว
การตัดสินบั้งไฟวัดกันที่ "ความสูง" โดยการจับเวลาตั้งแต่บั้งไฟตะไลลอยขึ้นจากพื้นจนกระทั่งตกลงสู่พื้นอีกครั้ง บั้งไฟตะไลของทีมใดทำเวลาอยู่ในอากาศได้นานที่สุดก็ถือว่าเป็นผู้ชนะ ปัจจุบันบั้งไฟตะไลกุดหว้ามีการเพิ่ม "ร่มชูชีพ" เพื่อให้การตกเป็นไปอย่างนิ่มนวล กรรมการและผู้ชมสามารถมองเห็นบั้งไฟตกได้ง่าย เพิ่มความปลอดภัยและยังช่วยยืดเวลาให้บั้งไฟลอยอยู่ในอากาศได้นานขึ้น
มีบ้างบางครั้ง แทนที่ตะไลจะหมุนควงตรงขึ้นสู่ฟ้า กลายเป็นว่าลอยขึ้นจากพื้นได้ไม่นานก็เกิดเสียง “ตู้ม” ตะไลแตกระเบิดกลางอากาศส่งสะเก็ดไฟและสายควันพุ่งออกไปทุกทิศทาง แม้จะ "พลาด" แต่ก็เป็นความสนุกสนานตื่นตาในอีกรูปแบบ ถ้าถือตามธรรมเนียมที่ว่า “บั้งไฟไม่ขึ้น เอาคนลงตม” ทีมช่างทำตะไลชุดนั้นต้องถูกจับโยนบ่อโคลนเป็นที่ครื้นเครงสำหรับผู้ชม
"ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน" ที่บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ จังหวัดกาฬสินธุ์ สะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานที่น่าสัมผัส จัดกันในวันเสาร์-อาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมหรือหลังจากบั้งไฟยโสธรหนึ่งสัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น โทร.0-4322-7714-6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น